แมลงก้นกระดก แมลงร้ายที่มาพร้อมฤดูฝน

ทุกปีในช่วงฤดูฝน เรามักได้ยินคำเตือนให้ระวังแมลงก้นกระดก ถึงแม้ว่าจะเป็นแมลงตัวเล็กๆ แต่มีพิษร้ายแรง แค่สัมผัสก็เป็นอันตรายกับผิวหนังแล้ว

วันนี้ สวิมมิ่ง คิดส์ ขอร่วมเตือนภัยให้เห็นถึงความร้ายกาจของแมลงก้นกระดก ทราบแล้วบอกต่อๆ กัน เพื่อจะได้ระมัดระวังไม่ไปสัมผัสแมลงตัวนี้กันนะคะ

“แมลงก้นกระดก” คือแมลงขนาดเล็กประมาณ 7-8 มม. ส่วนหัวมีสีดำ ปีกน้ำเงินเข้ม ขนาดเล็ก และส่วนท้องมีสีส้ม แมลงชนิดนี้มักจะงอส่วนท้ายเมื่อเกาะอยู่กับพื้น จึงถูกเรียกว่า “ด้วงก้นกระดก”

สถานที่และช่วงที่พบบ่อย
พบกระจายทั่วโลกมากกว่า 600 ชนิด โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น มักอาศัยบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟและแสงสว่างตามบ้านเรือน โดยเฉพาะจะมีมากในช่วงปลายฤดูฝน

สารพิษพีเดอรีนของแมลงก้นกระดก
แมลงก้นกระดกไม่กัด ไม่ต่อย แต่เมื่อถูกตบหรือบีบจะปล่อยของเหลวภายในลำตัวชื่อสารพิษพีเดอรีน (Pederin) ออกมา ก่อให้เกิดความระคายเคืองกับผิวหนังมาก ทำลายเนื้อเยื่อผิวหนัง มีอาการแสบร้อนหรือคันเล็กน้อย และมีการอักเสบของผิวหนัง โดยความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณความมากน้อยหรือความเข้มข้นของสาร Pederin ที่สัมผัสโดน อาการผื่นผิวหนังจะยังไม่เกิดทันทีที่สัมผัส แต่จะเริ่มเกิดผื่นและอาการแสบเมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง ต่อมาจะเกิดเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน หรือรอยไหม้ลักษณะเป็นทางยาว โดยลักษณะที่เกิดเป็นทางยาวเพราะเกิดจากการปัดด้วยมือ หรือบางรายจะเกิดผื่นที่บริเวณรอยพับที่ประกบกัน ร่วมกับตุ่มน้ำพองและตุ่มหนองใน 2-3 วัน โดยผื่นตุ่มน้ำตามบริเวณใบหน้า ลำคอ แขน มักทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นงูสวัด แต่แตกต่างจากผื่นงูสวัดคือ ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก จะไม่มีอาการปวดร้าวตามแนวเส้นประสาทที่ตำแหน่งที่เกิดผื่นเหมือนเช่นในงูสวัด ผื่นที่เกิดจากการสัมผัสแมลงก้นกระดกนี้ ในเวลาต่อมา ผื่นหรือแผลจะตกสะเก็ดและหายได้เองได้ภายใน 7-10 วัน หายแล้วอาจจะทิ้งรอยดำไว้สักระยะหนึ่ง แต่มักไม่เกิดเป็นแผลเป็น นอกจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมที่บริเวณผื่นเดิม ทำให้ผื่นหายช้าลงและอาจลุกลามจนมีโอกาสเกิดเป็นแผลเป็นหลังจากผื่นหายแล้วได้ สำหรับในรายที่ผื่นเป็นบริเวณกว้าง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรืออาการคลื่นไส้อาเจียน หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้

วิธีการรักษา
หากสัมผัสถูกสารพิษของแมลงก้นกระดก ให้รีบล้างด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสโดนแมลง สังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ถ้าเป็นรอยแดงเพียงเล็กน้อยสามารถหายได้เองใน 2-3 วัน แต่ถ้าผื่นเป็นมากขึ้นหรือมีตุ่มน้ำพองเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยถ้าผื่นมีตุ่มน้ำพองเป็นบริเวณกว้างหรือแผลไหม้ควรทำการประคบด้วยน้ำเกลือครั้งละ 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้งจนแผลแห้ง ร่วมกับกินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ

วิธีการหลีกเลี่ยงแมลงก้นกระดก
ห้ามจับโดนตัวแมลง ใช้การเป่า อย่าตบหรือบีบเด็ดขาด!
ปัดที่นอน หมอน ผ้าห่ม
ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด
เปิดไฟเฉพาะที่จำเป็นและปิดไฟในห้องนอน

ข้อมูลอ้างอิง: มหาวิทยาลัยมหิดล