วันนี้ สวิมมิ่ง คิดส์ ขอนำบทความดีๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่จาก The Asian Parent มาให้อ่านกันนะคะ
12 สัญญาณผิดปกติของลูกแรกเกิดที่ควรรีบพบแพทย์
การดูแลลูกในช่วงแรกเกิดจำเป็นที่พ่อแม่มือใหม่ต้องดูแลใส่ใจเป็นอย่างดี เพราะเด็กทารกแรกเกิดในช่วง 0-28 วัน หรือ 1 เดือน หลังคลอดนั้น ยังมีร่างกายและพัฒนาการที่ยังไม่สมบูรณ์ หากพบอาการผิดปกติหรือหาสาเหตุไม่พบ พ่อแม่ควรรีบพาลูกไปหาคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการนะคะ
พ่อแม่มือใหม่แทบทุกคนไม่เคยรับมือกับการดูแลเลี้ยงลูกน้อยมาก่อน เมื่อลูกน้อยร้องงอแง หาสาเหตุไม่พบ ไม่เข้าใจว่าลักษณะดังกล่าวเกิดจากอะไร ลองสังเกตอาการเหล่านี้ หากลูกน้อยเข้าข่ายมีอาการดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเริ่มมีความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวลูกน้อย
อาการผิดปกติของทารกที่ควรมาพบแพทย์
1. ลูกตัวเหลืองผิดสังเกต
โดยปกติแล้วทารกแรกเกิดจะมีอาการตัวเหลืองในสัปดาห์แรก เมื่ออายุ 3-5 วันก็จะค่อยๆ เหลืองน้อยลงจนหายได้เอง ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงและมีสารเหลืองออกมาด้วย และเนื่องจากการทำงานของตับทารกแรกเกิดยังไม่สมบูรณ์จึงกำจัดสารเหลืองได้ช้า จึงเกิดภาวะตัวเหลืองขึ้น แต่ถ้าสังเกตเห็นทารกตัวเหลือง สีผิวคล้ายขมิ้นมากขึ้นหรือนานเกินกว่า 14 วัน โดยเฉพาะทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว หากปล่อยไว้นานอาจทำให้ลูกมีอาการผิดปกติ ชักเกร็ง และมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กปกติได้
2. สะดือมีกลิ่นเหม็น มีหนอง หรือมีเลือดออก
โดยปกติสะดือของทารกจะแห้งและหลุดออกภายใน 5-10 วัน และควรทำความสะดือทุกครั้งหลังอาบน้ำและถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ไม่ควรใช้แป้งโรยบริเวณสะดือ ซึ่งหากพบว่าสะดือของลูกมีกลิ่นเหม็น มีหนอง หรือเลือดออก เกิดการอักเสบ สังเกตเห็นว่าบริเวณรอบๆ สะดือจะบวมแดง ควรรีบพาทารกพบแพทย์
3. ลูกซึม ไม่ยอมดูดนม
โดยปกติทารกแรกเกิดมีความต้องการที่จะกินนมแม่ หากพบว่าลูกน้อยมีอาการซึม ไม่ยอมดูดนม อาจหมายถึงการส่งสัญญาณความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูก เช่น ลูกเจ็บเหงือกเพราะฟันกำลังขึ้น หรือเกิดจากการติดเชื้อราในช่องปาก หูติดเชื้อส่งผลต่อความเจ็บปวดขณะดูดนม หรือความเจ็บปวดที่ส่งผลทำให้ทารกมีอาการดังกล่าว ควรพบลูกไปแพทย์เพื่อหาสาเหตุวินิจฉัยอาการนะคะ
4. ลูกอาเจียน
ลูกสำรอกหรือมีการแหวะนมออกมาเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ปกติของทารก เนื่องจากกระเพาะอาหารของทารกมีขนาดจำกัด หากกินนมเข้าไปเป็นจำนวนมาก ก็อาจทำให้ลูกแหวะนมได้ ซึ่งการทำให้ลูกเรอหลังกินนมจะช่วยไม่ทำให้ลูกได้แหวะนม แต่ถ้าลูกอาเจียนทุกครั้งหลังกินนม หรืออาเจียนมากกว่า 5 ครั้งต่อวัน หรือไอหลังจากกินนมเสมอ อาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร หรือเกิดจากการติดเชื้อ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพาไปพบแพทย์ค่ะ
5. ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยวันหลังละหลายครั้ง
ปกติแล้วทารกที่กินนมแม่จะถ่ายอุจจาระวันละ 4-5 ครั้ง แต่ถ้าลูกน้อยมีอาการท้องเสียสังเกตจากการถ่ายบ่อยมากกว่า 1 ครั้งหลังกินนมแต่ละรอบ มีอุจจาระเหลวปนน้ำ หรือมีมูกเลือดปนอย่างน้อย 1 ครั้ง อุจจาระมีกลิ่นแรงกว่าปกติ อันตรายจากอาการท้องเสียที่สำคัญ คือ การเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ซึ่งถ้ามีอาการรุนแรงและยืดเยื้อโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที จะทำให้เด็กเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง ช็อก และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อพบว่าลูกมีลักษณะของอาการท้องเสีย ควรรีบพาลูกไปหาแพทย์
6. ท้องอืด
เป็นเรื่องปกติที่พบทารกมีอาการท้องอืดและผายลมบ่อยได้ เพราะเมื่อลูกน้อยร้องไห้มากหรือกลืนลมเข้าไปมากในขณะกินนมก็ส่งผลให้ท้องอืด วิธีแก้คือจับเรอด้วยท่านั่งหรืออุ้มพาดบ่าหลังจากให้นมเสร็จ หรือให้ลูกนอนคว่ำก็จะช่วยลดภาวะท้องอืดลงได้ แต่ถ้าลูกมีอาการท้องอืดร่วมกับมีไข้ งอแง หรืออาเจียนออก อาจเป็นสัญญาณของปัญหาในระบบการย่อยอาหารที่รุนแรง ควรรีบพาทารกไปพบแพทย์
7. ฝ้าขาวในปาก
ฝ้าขาวภายในช่องปากเกิดจากคราบน้ำนม ควรใช้สำลีหรือผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกทำความสะอาดเช็ดออกให้หมด เพราะถ้าเช็ดออกไม่หมดอาจทำให้เกิดเชื้อรา หรือหลังเช็ดมีเลือดออก และเป็นมากบริเวณเพดานปากและกระพุ้งแก้มทั้ง 2 ข้าง หากมีคราบขาวจากเชื้อรามีเยอะหรือหนามาก ลูกจะมีอาการงอแง กินนมได้น้อย น้ำหนักตัวลด ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์
8. มีน้ำไหลออกจากรูหู
หากสังเกตว่าหูลูกมีอาการบวมแดง มีน้ำไหลออกจากรูหู ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและรับการรักษานะคะ
9. ลูกมีไข้สูง-ต่ำผิดปกติ
อุณหภูมิที่ปกติสำหรับลูกแรกเกิดนั้นจะอยู่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส และไม่มากหรือต่ำไปกว่า 0.5 องศา ถ้าลูกตัวร้อนวัดอุณหภูมิได้ 37.5 องศาเซลเซียสแสดงว่าลูกมีไข้ ควรลดไข้ลูกด้วยวิธีการเช็ดตัว และถ้าวัดอุณหภูมิมากกว่า 38 องศาเซลเซียสแสดงว่ามีไข้สูง และหากมีไข้สูงมากอาจทำให้เกิดอาการชักได้ ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
10. มีอาการชัก
เกิดขึ้นได้จากลูกมีอาการไข้สูงมาก จะมีลักษณะชักแบบเกร็งหรือกระตุกทั้งตัว เป็นทั้งข้างซ้ายและขวาเท่าๆ กันไม่เกิน 15 นาที ส่วนมากมักจะหยุดได้เองภายในเวลา 3-5 นาที หลังจากชักเด็กจะรู้สึกตัวดี พ่อแม่อย่าเพิ่งด่วนตกใจ ถ้ามีอาการชักนานมากกว่า 5 นาที หรือรอบปากมีรอยเขียวคล้ำควรพาลูกไปหาแพทย์ทันที ระหว่างพามาแพทย์ จับให้ลูกนอนท่าตะแคง หัวต่ำเพื่อป้องกันการสำลัก และหาผ้านิ่มม้วนแน่นๆ สอดที่มุมปากเพื่อป้องกันการกัดลิ้น ห้ามใช้นิ้วหรือวัสดุใดๆ เช่น ช้อน ไปล้วงหรืองัดปากลูกโดยเด็ดขาดนะคะ
11. ลูกดูดนมจนเหนื่อยหอบ
โดยปกติลูกจะใช้เวลาดูดนมไม่เกิน 30 นาทีแล้วหลับเพื่อตื่นขึ้นมาดูดนมในครั้งต่อไป หากลูกมีอาการผิดปกติจะมีอาการซึม ดูดนมได้น้อยลง ร้องไห้งอแง หรือขณะดูดนมมีอาการเหนื่อยหอบ หากมีอาการดังกล่าวแสดงว่าทารกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
12. โรคตาที่พบในเด็ก
โรคตาที่พบในเด็กเล็ก เช่น ตาอักเสบ ท่อน้ำตาอุดตัน ตาขี้เกียจ ตาเข เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น หากพบอาการผิดปกติควรรีบพาลูกมาพบแพทย์และได้รับการรักษาเนิ่นๆ
ข้อมูลจาก: https://th.theasianparent.com